วันศุกร์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

สถานที่ท่องเที่ยวกรุงเทพมหานคร


สวนสัตว์ดุสิต สวนสัตว์ดุสิต แต่เดิมเป็นส่วนหนึ่งของพระราชอุทยานสวนดุสิต ซึ่งประชาชนทั่วไปเรียกว่า "เขาดินวนา" พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเป็นสวนพฤกษชาติส่วนพระองค์ ต่อมาเมื่อพ.ศ. 2481 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 8 คณะรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม เห็นว่าสวนสัตว์ดุสิต หรือเขาดินวนา ถูกปล่อยให้รกร้างว่างเปล่าโดยไร้ประโยชน์ จึงได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานให้เทศบาลนครกรุงเทพดำเนินการจัดสร้างเป็นสวนสัตว์ เพื่อใช้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชน ปัจจุบันสวนสัตว์ดุสิต เป็นแหล่งรวมของสัตว์ป่านานาชนิด ทั้งสัตว์ต่างประเทศ และสัตว์ท้องถิ่น รวมกันถึง 2,500 ชนิด เป็นทั้งแหล่งพักผ่อนหย่อนใจของคนกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดที่แวะเวียนมาเที่ยวชมศึกษาหาความรู้ โดยเฉพาะนักเรียนนักศึกษา และที่น่ายินดีก็คือ เป็นแหล่งเดียวในโลกที่มี เก้งเผือก เลี้ยงไว้เป็นขวัญใจของประชาชนมีชื่อว่า “เจ้าเพชร” และเป็นสถานที่พบหลุมหลบภัยสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ซุกซ่อนอยู่ เวลาเปิด-ปิด : ทุกวัน เวลา : 08.00-18.00 น. ค่าเข้าชม : คนไทย เด็ก 10 บาท ผู้ใหญ่ 70 บาท นักเรียน 30 บาท ชาวต่างชาติ เด็ก 50 บาท ผู้ใหญ่ 100 บาท


 วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า วัดพระแก้ว นั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นพร้อมกับการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๕ แล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๓๒๗
     เป็นวัดที่สร้างขึ้นในเขตพระบรมมหาราชวัง ตามแบบวัดพระศรีสรรเพชญ สมัยอยุธยา วัดนี้อยู่ในเขตพระราชฐานชั้นนอก ทางทิศตะวันออก มีพระระเบียงล้อมรอบเป็นบริเวณ เป็นวัดคู่กรุงที่ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา ใช้เป็นที่บวชนาคหลวง และประชุมข้าทูลละอองพระบาทถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา

     รัชกาลที่ ๑ โปรดเกล้าให้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรหรือพระแก้วมรกต พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของไทย มาประดิษฐาน ณ ที่นี้ วัดพระศรีรัตนศาสดารามนี้ ภายหลังจากการสถาปนาแล้ว ก็ได้รับการปฏิสังขรณ์สืบต่อมาทุกรัชกาล เพราะเป็นวัดสำคัญ จึงมีการปฏิสังขรณ์ใหญ่ทุก ๕๐ ปี คือในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลปัจจุบัน
     เนื่องในโอกาสสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ครบ ๒๐๐ ปี ในปี พ.ศ. ๒๕๒๕ ที่ผ่านมา การบูรณปฏิสังขรณ์ที่ผ่านมา มุ่งอนุรักษ์สถาปัตยกรรมและศิลปกรรมอันเป็นมรดกชิ้นเอกของชาติ ให้คงความงามและรักษาคุณค่าของช่างศิลปไทยไว้อย่างดีที่สุด เพื่อให้วัดพระศรีรัตนศาสดารามนี้อยู่คู่กับกรุงรัตนโกสินทร์ตลอดไป


วัดอรุณราชวราราม เป็นวัดโบราณสร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เดิมเรียกว่า "วัดมะกอก" ตามชื่อ ตำบลบางมะกอกซึ่งเป็นตำบลที่ตั้งวัด ภายหลังเปลี่ยนเป็น "วัดมะกอกนอก" เพราะมีวัดสร้างขึ้นใหม่ในตำบลเดียวกัน แต่อยู่ลึกเข้าไปในคลองบางกอก ใหญ่ชื่อ "วัดมะกอกใน" ต่อมาใน พ.ศ. ๒๓๑๐ เมื่อสมเด็จ พระเจ้าตากสินมหาราชม พระราชประสงค์จะย้ายราชธานีมาตั้ง ณ กรุงธนบุรีจึงเสด็จกรีฑาทัพล่องลงมาทาง ชลมารคถึงหน้าวัดมะกอกนอกนี้เมื่อเวลารุ่งอรุณพอดี จึงทรงเปลี่ยนชื่อวัดมะกอกนอกเป็น "วัดแจ้ง" เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งนิมิตที่ได้เสด็จมาถึงวัดนี้เมื่อเวลาอรุณรุ่ง

   ชื่อ "วัดแจ้ง" นี้ มีเรื่องสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทูลสมเด็จฯ กรมพระยานริศรา นุวัตติวงศ์ไว้ว่า "หม่อมฉันเคยเห็นแผนที่เมืองธนบุรีที่ฝรั่งเศสทำเมื่อรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ ในแผนที่นั้นมีแต่วัดเลียบกับวัดแจ้ง เวลานั้นยังเป็นชานป้อมใหญ่ ซึ่งอยู่ราวโรงเรียนราชินี เพราะฉะนั้นวัดโพธิ์เป็นวัดสร้างเมื่อล่วงรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มาแล้ว
        เมื่อพระเจ้าตากสินมหาราชโปรดให้ย้ายราชธานีจากกรุงศรีอยุธยามาตั้ง ณ กรุงธนบุรี และได้ทรงสร้างพระราชวังใหม่ มีการขยายเขตพระราชฐาน เป็นเหตุให้วัดแจ้งตั้งอยู่กลาง พระราชวังจึงไม่โปรดให้มีพระสงฆ์จำพรรษา
        นอกจากนั้นในช่วงเวลาที่กรุงธนบุรีเป็นราชธานี ถือกันว่าวัดแจ้งเป็นวัดคู่บ้าน คู่เมือง เนื่องจากเป็นวัดที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตและพระบาง ซึ่งสมเด็จพระยามหากษัตริย์ศึก (พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช)ได้ไว้ในมณฑป และมีการสมโภชใหญ่ ๗ คืน ๗ วัน(ในปี พ.ศ. ๒๓๒๗ พระแก้วมรกตได้ย้ายมาประดิษฐาน ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมหาราชวัง ส่วนพระบางนั้นสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้โปรดพระราชทานคืนไปนครเวียงจันทร์)
        เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มหาราช รัชกาลที่ ๑ เสด็จเถลิงถวัลราชสมบัติ ได้โปรดให้สร้างพระนครใหม่ฝั่งตะวันออก ของแม่น้ำเจ้าพระยา และรื้อกำแพงพระราชวังกรุงธนบุรีออก วัดแจ้งจึงไม่ได้อยู่ในเขตพระราชวังอีกต่อไป พระองค์จึงโปรดให้วัดแจ้งเป็นวัดที่มี พระสงฆ์จำพรรษาอีกครั้งหนึ่ง นอกจากนั้นพระองค์ทรงมอบหมายให้สมเด็จ พระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร (ร. ๒) เป็นผู้ดำเนินการปฏิสังขรณ์วัดแจ้ง แต่สำเร็จเพียงแค่กุฎีสงฆ์ก็สิ้นรัชกาลที่ ๑ ใน พ.ศ. ๒๓๕๒ เสียก่อน
        ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ พระองค์ทรงดำเนินการปฏิสังขรณ์ต่อจนเสร็จ ทั้งได้ทรงปั้นหุ่นพระพุทธรูปด้วยฝีพระหัตถ์ และโปรดให้หล่อขึ้นประดิษฐานเป็นพระประธาน ในพระอุโบสถ และโปรดให้มีมหรสพสมโภชฉลองวัดในปี พ.ศ. ๒๓๖๓ แล้วโปรดพระราชทาน พระนามวัดว่า "วัดอรุณราชธาราม"

       ถึงรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์เพิ่มเติมอีก แล้วทรงเปลี่ยนชื่อวัดเป็น "วัดอรุณราชวราราม" ดังที่เรียกกันมาจนถึงปัจจุบัน